6267 จำนวนผู้เข้าชม |
แม่ : สร้างลูก สร้างโลก
เรื่องของต้นทุนชีวิตที่เกี่ยวข้องระหว่างแม่กับลูกตั้งแต่แรกเกิดนั้น มีประเด็นดังนี้ ประเด็นที่ ๑ ต้นทุนชีวิตภายใน จุดหลักของต้นทุนชีวิตภายใน พบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด มีความหมายตั้งแต่แม่ลูกมีความผูกพันซึ่งกันและกัน ความรักที่แม่มีให้กับลูก จะค่อยๆ สั่งสม เกิดทักษะ เกิดการเรียนรู้ เกิดความไว้วางใจ เกิดความรู้สึกมองโลกในแง่ดี การเกิดความไว้วางใจถือเป็นต้นทุนชีวิตประเภทหนึ่ง ทำให้ลูกมีความรู้สึกภูมิใจ เพราะความรักและสายใยรักที่แม่มีให้กับลูก จะกลายเป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งของลูก คือคุณค่าในตนเอง และจะดำรงคงอยู่อย่างยาวนานชั่วชีวิตของความเป็นมนุษย์ทุกคน ซึ่งถือเป็นแกนของชีวิตที่สำคัญมาก จะสังเกตว่าเวลาลูกเติบโตอยู่ในวัยไหนก็ตาม เช่น วัยรุ่นที่เถียงกับแม่ทุกเรื่อง เวลาแก้ปัญหาลูกวัยรุ่น ต้องย้อนกลับมาดูที่ฐานความรักและความสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ด้วย ประเด็นที่ ๒ สร้างความปลอดภัย ธรรมชาติของความเป็นแม่ทุกคนจะสร้างความปลอดภัยที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าโลกนี้ช่างปลอดภัยเสียเหลือเกิน เมื่อลูกมีความรู้สึกไว้วางใจ จะทำให้ลูกมองโลกแง่ดี มองเชิงบวก ถือเป็นต้นทุนชีวิตภายในที่ถูกสร้างขึ้นมา แล้วค่อยๆ แข็งแรงขึ้นกลายเป็นพลังตัวตนเรื่องความคุ้มครอง นอกจากทำให้เด็กรู้สึกว่าการมองโลกในแง่ดีแล้ว เวลาไปพบอะไรกับสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ บวกกับทักษะของพ่อ ซึ่งไม่เฉพาะแม่คนเดียว สังเกตจากเวลาพ่อช่วยเลี้ยงลูก นอกจากความเชื่อมั่นแล้ว ลูกจะเกิดความพร้อมในการเป็นนักสำรวจ เป็นฐานของวิทยาศาสตร์ และการเป็นนักสำรวจ อาจจะมาจากบริบทของพ่อที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนอะไรเดิมๆ คาดคะเนไม่ถูก ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นแม่เลี้ยงก็จะเป็นรูปแบบที่ลูกพอจะคาดคะเนได้ จะทำให้เด็กกลายเป็นนักคิด นักวิเคราะห์ นักสำรวจขึ้นมาได้เหมือนกัน ประเด็นที่ ๓ ปิยวาจา ปิยวาจาก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกเกิดกำลังใจ เพราะ "ปิยวาจา" คือการพูดให้กำลังใจ ให้ความชื่นชม ไม่ใช่แค่จับผิด ตำหนิติเตียน เวลาลูกเกิดการเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ และได้รับกำลังใจว่าให้คำชื่นชม พฤติกรรมที่ดีก็จะมาด้วย นอกจาก "แม่" จะเป็นแม่บ้านที่ดูแลเรื่องอาหารการกิน การจัดการภายในบ้านแล้วมักจะมาพร้อมกับกติกา... คนที่เป็นต้นแบบของการจัดการกติการะดับต้นๆ หนีไม่พ้นความเป็นแม่ (น้ำหนักมากกว่าพ่อ) แม่ที่รู้จักวางกฎกติกา รู้จักประเมินผลและติดตาม เกิดระบบการเฝ้าระวังสมาชิกในบ้าน ทำให้ลูกรู้จักต้นทุนชีวิตเรื่องความซื่อสัตย์จากการติดตามประมวลผลของแม่ ว่าลูกทำหรือเปล่า หรือไม่ได้ทำ เกิดความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบในผลของการกระทำนั้น ลูกก็จะเข้าใจคำว่าสิทธิและเสรีภาพ รู้ว่าอะไรที่เสนอได้ อะไรที่ทำได้ และแค่นี้ทำไม่ได้ ภายใต้ระบบของกฎเกณฑ์และระบบวินัย จะเห็นได้ว่าถ้าแม่ดูแลลูกบนฐานของความรัก ความปรารถนาดี ความเอื้ออาทร ความผูกพัน มีเหตุมีผล คือมีทั้งความรัก ปิยวาจา ปกป้องลูกน้อย มีทั้งกฎกติกา การติดตามประเมินผล ลงไปคลุกวงในกับลูกเวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้น ถ้าเป็นสภาพของแม่อย่างนี้ ทุนชีวิตต่างๆ จะเกิดขึ้นกับลูกหมด ลูกจะรู้จักเคารพสิทธิของคนอื่น มีความซื่อสัตย์ พูดความจริง รับผิดชอบ เคารพกฎกติกา ถ้าแม่ที่มีการติดตามที่ดี จะเป็นที่ปรึกษาที่ดีของลูก ลูกจะเกิดการเรียนรู้ทักษะในการแก้ปัญหา ขึ้นกับจริตของแม่ สมมุติว่าแม่มีความลงตัวในการแก้ปัญหาด้วยดี ไม่ใช้อารมณ์ในการเลี้ยงลูก ลูกจะซึมซับกระจกเงาตรงนี้ไปใช้กับเพื่อนด้วย เรื่องการเจรจา คุมสติอารมณ์ ขอบคุณคลังบทความ (หมอชาวบ้าน) ข้อมูลสื่อ ชื่อไฟล์: 376-017 นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 376 เดือน/ปี: สิงหาคม 2010 คอลัมน์: เรื่องเด่นจากปก นักเขียนรับเชิญ: นพ.สุริยเดว ทรีปาตี |